เรื่องเล็กๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่

วันก่อน หมอได้รับข้อความจากคุณแม่ “คุณหมอคะ ลูกจะเริ่มเดินแล้ว เราควรซื้อหมวกกันน็อคให้ลูกใส่ดีไหมคะ” บ้านคนที่รู้จักก็เปลี่ยนพี่เลี้ยงลูกไป 5 คน เพราะ “ไม่รู้จักระวัง ทำให้น้องล้มจนเป็นแผล” “ไม่วิ่งเดี๋ยวล้ม” “อย่าปีนเดี๋ยวตก” “พ่ออุ้มเอง เดี๋ยวหกล้ม” “ไม่เจ็บๆ ไม่ร้องๆ” คำพูดที่เราได้ยินพ่อแม่พูดกับลูกอยู่เสมอ

 
เลี้ยงลูกให้  ​​
 

พ่อแม่ที่ตีพื้น ตีจักรยาน“นี่แน่ะๆ ทำลูกเจ็บหรอ” ลูกอาจเติบโตไปแบบคอยโทษคนอื่นหรือคอยหาคนผิดว่า “ใครทำให้ฉันเจ็บ”

พ่อแม่ที่ซํ้าเติมลูกว่า “ทำไมดื้ออย่างนี้” “เห็นไหมเพราะซนเลยต้องเจ็บตัว” ลูกอาจจะโตไปแบบรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง

พ่อแม่ที่คอยห้ามไม่ให้วิ่ง ไม่ให้เดิน เพียงเพราะ “กลัวลูกจะเจ็บ” ลูกอาจถูกปิดกั้นประสบการณ์ดีๆ ที่ลูกต้องเรียนรู้

พ่อแม่ที่เข้าไป บอกว่า “ไม่ร้องๆๆ” “ไม่เจ็บๆๆ” “เงียบๆๆ” ทำให้ลูกไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับความรู้สึกที่แท้จริง และได้จัดการตัวเอง

 
เลี้ยงลูกให้  ​​
 

เวลาลูกล้ม...

ถ้ามันแค่เบาๆ... แนะนำให้ยืนอยู่ห่างๆ พร้อมให้กำลังใจ “ลุกไหมลูก แม่เป็นกำลังใจให้” ถ้าลูกลุกเองได้ให้ชื่นชม “เก่งจัง หนูลุกเองได้เลย หนูเป็นเด็กอดทนมาก”

ถ้ามันเจ็บจนร้องไห้... ให้เดินเข้าไปกอด พร้อมบอกว่า “แม่รู้ว่าหนูเจ็บ เจ็บตรงไหน กอดแม่ไว้นะ เดี๋ยวมันจะค่อยๆ ดีขึ้น” ลองชวนคิดถึงเรื่องอื่น เป่าลมหายใจ เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับความเจ็บปวดนั้น พ่อแม่ที่สงบ ไม่แสดงท่าทีตกอกตกใจ ลูกจะรู้ว่านี่ไม่ใช่ “เรื่องใหญ่ในชีวิต” เพราะเมื่อหัดเดิน หัดวิ่ง การสะดุดล้มมันช่างเป็น “เรื่องธรรมดา” เพราะชีวิตที่ต้อง “ก้าว” ไปข้างหน้า...ก็เช่นกัน

การเลี้ยงแบบไม่ประคบประหงม ไม่ปกป้องจนเกินไป จะทำให้ลูกเรียนรู้ในสิ่งที่สำคัญ “ล้มเองลุกเอง” และที่มากไปกว่านั้น

ท่าทีของพ่อแม่ ที่มีต่อการ "ล้ม" ของลูก มีความสำคัญ เวลาลูกล้ม...

ลูกจะมี “ความเชื่อมั่นในตัวเอง” ความเชื่อมั่นที่ไม่ได้แปลว่า “ฉันจะไม่ล้ม” แต่เป็นความเชื่อมั่นว่า “ฉันจะลุกได้” ที่สำคัญความเชื่อมั่นว่า “ฉันมีใครสักคน” ที่ฉันรู้ว่ารักฉันมากแค่ไหน ใครคนนั้นที่คอยบอกฉันว่า “ฉันเก่งพอที่จะลุกและไปต่อ” ความเชื่อมั่นนั้นที่เราเรียกมันว่า... “ความนับถือตนเอง” การตอบสนองของพ่อแม่ สำคัญต่อการมองปัญหาหรืออุปสรรคของลูก ถ้าเราทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่...มันจะใหญ่โต ถ้าเราคอยห้าม บังคับ ระวัง กังวล ประคบประหงม เรากำลังจะส่งสัญญาณให้ลูกรู้ทุกครั้งว่า “ลูกยังไม่เก่งพอ” ซึ่งนั่นสำคัญต่อความนับถือตัวเอง

 

อย่ากลัวถ้าลูกจะล้ม เพราะทุกครั้งของการล้ม... ลูกจะภูมิใจในตัวเองที่ลูกลุกขึ้นได้ ลูกจะมีความเชื่อมั่นว่ามัน "ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต" ทุกครั้งที่เจ็บ "ลูกจะเรียนรู้และฝึกระวังไม่ให้ตัวเองต้องเจ็บซํ้าๆ" รักลูก...ปล่อยลูกให้ล้มบ้างนะคะ เพราะทั้งคุณและลูกจะภูมิใจที่เห็นเขา "ลุกได้ด้วยตัวเอง" #หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน