Happy Talk
Life Spiration
Live And Learn
Eco-Living
Family In Love
Eat Am Are
Get Fit
Healthy Guide
Money Session
Live Offline
Happy Plus
Happy Life Club
BLA Product
article image
Money Session

เทคนิควางแผนการเงิน ของคนต่างอาชีพ

มีคนบอกให้วางแผนการเงิน เพื่อจะได้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี แต่พอลองศึกษาก็ไปเจอว่า มีคนแนะนำเทคนิคการวางแผนการเงินเยอะจนเลือกไม่ถูก ว่าอะไรเหมาะสมกับตัวเองกันแน่ วันนี้เราเลยจะขอแนะนำเทคนิคการวางแผนการเงิน ของคนแต่ละอาชีพ ใครทำอาชีพอะไรก็สามารถทดลองนำไปใช้ได้ทันที 

แต่ก่อนอื่นเมื่อพูดถึงสุขภาพทางการเงินที่ดี ต้องรู้ก่อนว่ามีหลักสำคัญในการวางแผนการเงินอยู่ 3 ข้อ คือ ที่มาของรายได้ การเก็บออม และการลงทุน อย่างไรก็ตาม อาชีพที่แตกต่างกันจะวางแผนการเงินแบบเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะที่มาของรายได้มีความสัมพันธ์กับการวางแผน  ดังนั้นแต่ละอาชีพจึงต้องรู้จักประยุกต์เทคนิคให้เหมาะกับตัวเองด้วย วันนี้เรามาดูกันครับว่า แต่ละอาชีพควรมีเทคนิควางแผนการเงินอย่างไรจึงจะทำให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี



รายได้ข้าราชการจัดว่ามั่นคงที่สุดหากเทียบกับอาชีพอื่น แต่ก็เป็นรายได้ที่มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดเช่นกัน เพราะเงินเดือนจะขึ้นเป็นขั้นบันได นอกจากจะขึ้นน้อยแล้ว ยังขึ้นช้าอีกด้วย ดังนั้นจึงขอแนะนำ “แผนเพิ่มรายได้”
 
แผนเพิ่มรายได้ 3 ขั้นตอน สำหรับข้าราชการ
ขั้นแรก เก็บเงินออมฉุกเฉินให้ได้เท่ากับค่าใช้จ่ายประจำ 6 เดือน
ขั้นที่สอง เตรียมเงินเพื่อการเกษียนผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และลงทุนเพื่อคนข้างหลังด้วยการทำประกันชีวิตในแผนควบการลงทุนด้วย
ขั้นที่สาม หารายได้เพิ่มจากธุรกิจ โดยอาจเริ่มจากใช้ทักษะฝีมือรับงานฟรีแลนซ์ หรือเริ่มค้าขายเล็ก ๆ ก่อนก็ได้ แล้วนำรายได้ส่วนนี้ไปต่อยอดลงทุนในหุ้น กองทุนรวม หรืออสังหาริมทรัพย์



รายได้ของฟรีแลนซ์จัดว่ามีความเสี่ยงสูง ขึ้นอยู่กับคอนเนคชั่นและความเชี่ยวชาญ รายได้มาจากทักษะแรงงานต้องพัฒนาตัวเองเสมอ หากเก่งมากก็รายได้มาก หากไม่พัฒนาก็ยากที่จะมีงานเข้ามา ข้อสำคัญคือความรับผิดชอบและการสื่อสารกับผู้ว่าจ้างเพื่อให้มีงานต่อเนื่อง ดังนั้นจึงขอแนะนำ “แผนสร้างความมั่นคง”
 
แผนสร้างความมั่นคง 3 ขั้นตอน สำหรับฟรีแลนซ์
ขั้นแรก เก็บเงินออมฉุกเฉินให้ได้เท่ากับค่าใช้จ่ายประจำ 6 เดือน
ขั้นที่สอง ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือควบการลงทุน หากมีสภาพคล่องควรศึกษาการลงทุนในกองทุนรวมไว้เป็นทางเลือก
ขั้นที่สาม แบ่งเงินเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้เงินเพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะเดิมที่ใช้หาเงิน ส่วนที่สองใช้เงินเพื่อเรียนรู้ช่องทางการทำการตลาดเพิ่มเติม เช่น การตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย การสร้างเว็บไซต์ เพื่อเปลี่ยนฝีมือแรงงานให้กลายเป็นแบรนด์ ต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจที่มีระบบ ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น



รายได้ของพนักงานบริษัทเอกชนคล้ายกับของราชการ แม้อาจจะไม่มั่นคงเท่าราชการ แต่ก็แลกมากับการมีโบนัสรายปี และมีอัตราการเติบโตของเงินเดือนที่เร็วและสูงกว่า ดังนั้น จึงขอแนะนำ “แผนลงทุนความเสี่ยงต่ำ”
 
แผนลงทุนความเสี่ยงต่ำ 3 ขั้นตอน สำหรับพนักงานบริษัทเอกชน
ขั้นแรกคือ เงินออมฉุกเฉินให้ได้เท่ากับค่าใช้จ่ายประจำ 6 เดือน
ขั้นที่สอง ออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและทำประกันบำนาญ
ขั้นที่สาม คือการลงทุนความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ SSF RMF และ กองทุนรวมทั่วไป ในส่วนของ SSF เป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม ส่วน RMF เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ทั้งสองแบบเป็นการลงทุนที่ได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้การลงทุนทั้งสองแบบต่างก็มีความเสี่ยง แม้จะน้อยกว่าการเลือกซื้อหุ้น แต่ก็ควรทำการศึกษาก่อนลงทุน




เจ้าของธุรกิจส่วนตัวมีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด การขึ้นลงของวัตถุดิบ ต้นทุน หากแบรนด์ธุรกิจไม่แข็งแรงลูกค้าก็อาจเปลี่ยนไปซื้อเจ้าอื่น ส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินทั้งของส่วนตัวและส่วนธุรกิจ จึงขอแนะนำ “แผนกระจายการลงทุน”
 
แผนกระจายการลงทุน 3 ขั้นตอน สำหรับเจ้าของธุรกิจ
ขั้นแรก ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของธุรกิจแยกกับบัญชีส่วนตัว เก็บเงินทุนสำรองฉุกเฉินธุรกิจเท่ากับค่าใช้จ่ายธุรกิจ 6 เดือน และเก็บเงินออมส่วนตัวแยกต่างหากเท่ากับค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6 เดือน
ขั้นที่สอง ตระเตรียมแผนธุรกิจทางเลือก เช่น สินค้าประเภทใหม่ หรือช่องทางการขายใหม่ หรืออาจจะเป็นธุรกิจประเภทใหม่
ขั้นที่สาม กระจายเงินทุนไปยังทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น กองทุน พันธบัตร หุ้น อสังหาริมทรัพย์ โดยอาจเริ่มต้นทีละประเภท ทยอยเติมเงินลงไปในทรัพย์สิน โดยมุ่งเน้นการถือครองระยะยาว เนื่องจากสภาพคล่องระยะสั้นมาจากธุรกิจอยู่แล้วนั่นเอง
 

แต่ละอาชีพมีรายได้ที่ไม่เหมือนกัน จึงส่งผลทำให้การวางแผนการเงินแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การวางแผนย่อมต้องมีการ “ปรับเปลี่ยนแผน” ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ จึงควรศึกษาแผนการเงินให้หลากหลาย เพื่อปรับแผนการเงินให้เหมาะสมอยู่เสมอ

CONTRIBUTOR

ชวิศ เหล่าปิยสกุล

เรื่องต่อไป

อ่านเรื่องราวทั้งหมด