Happy Talk
Life Spiration
Live And Learn
Eco-Living
Family In Love
Eat Am Are
Get Fit
Healthy Guide
Money Session
Live Offline
Happy Plus
Happy Life Club
BLA Product
article image
Money Session

กี่วิกฤติก็รอดได้ กับการเก็บเงินสไตล์คะเคโบะ (Kakeibo)

นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 บ้านเรามีวิกฤติผ่านเข้ามามากมาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รูปแบบวิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากปกติเราจะใช้เงินเมื่อออกไปนอกบ้าน มาวันนี้เราเริ่มสร้างนิสัยใหม่ด้วยการช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ อาจจะทำให้หลายคนตระหนักถึงค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปโดยไม่ยั้งคิด เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้กระตุ้นให้เราเผลอเอาเงินไปช้อปปิ้งออนไลน์จนเพลิน
 
   อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลเรื่องการใช้จ่ายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะวางแผนชีวิตของตัวเองเสียใหม่เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่คาดไม่ถึงในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนเรื่องออมเงินที่หลายคนอาจรู้สึกเหมือนเป็นยาขม ยากเย็นเสียเหลือเกิน แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธีการง่าย ๆ ที่เราอยากแนะนำกันในวันนี้กับวิธีการออมเงินด้วยการจดในสไตล์คะเคโบะ (Kakeibo)



วิธีการออมเงินในสไตล์ญี่ปุ่นที่เรียกว่า คะเคโบะ (Kakeibo) มีความหมายว่า สมุดบัญชีครัวเรือน ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1904 โดยคุณฮานิ มาโตโกะ และมีจุดเริ่มต้นที่ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมาจากหนังสือ Kakeibo: The Japanese Art of Budgeting & Saving Money (คะเคโบะ : ศิลปะการจัดงบประมาณและการออมเงิน) เขียนโดย คุณฟูมิโกะ ชิบะ
 
แนวคิดสำคัญของ คะเคโบะ คือ การชี้ให้คุณเห็นถึง “รายจ่ายฟุ่มเฟือย” และเรียนรู้ที่จะตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือยนี้ออกไป โดยคุณจะเห็นได้ชัดเจนจากการลงมือเขียนใส่สมุดด้วยตัวเองแทนที่จะใช้การนึกทบทวนเพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถสรุปเป็นขั้นตอน step by step ได้ดังนี้



สเต็ปที่ 1 ในทุกต้นเดือน คนญี่ปุ่นที่ใช้แนวทางออมเงินแบบคะเคโบะจะลงมือจดบันทึกรายรับของตัวเอง ซึ่งเป็นการสร้างวินัยให้กับตัวเองตั้งแต่ต้นเดือนเลยทีเดียว ไม่ว่าคุณจะมีรายได้กี่ทาง ให้คุณสรุปรายรับที่คุณได้รับมา คุณต้องจดรวบรวมเอาไว้ก่อน รวมแล้วคุณมีรายรับเป็นเงินเท่าไหร่



สเต็ปที่ 2 ทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นต่างก็ต้องมีรายจ่ายประจำอย่างแน่นอน การจดบันทึกแบบคะเคโบะจะช่วยให้คุณไม่หลงลืมรายจ่ายสำคัญก้อนนี้ โดยระบุรายจ่ายประจำก้อนใหญ่ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และรวมถึงหนี้สินผ่อนจ่ายรายงวด ที่ต้องชำระทุกเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเช่า



สเต็ปที่ 3 จุดเริ่มต้นของการสร้างวินัยการออม คือ เราต้องรู้จํานวนเงินที่เราจะนํามาวางแผน หลังจากนํารายจ่ายประจําหักออกจากรายรับ (รายรับ-รายจ่ายประจํา) คุณจะได้ตัวเลขเงินส่วนต่างระหว่างเงิน 2 ก้อน ซึ่งเป็นเงินที่คุณจะนํามาวางแผนและจัดการต่อไป ยกตัวอย่างเช่น คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เมื่อมีเงินเหลือก็มักจะนํามาวางแผนโดยออมในที่ที่ปลอดภัย และให้ผลตอบแทนสูงกว่าบัญชีเงินฝาก โดยมักจะเลือกสร้างความมั่นคงด้วยการซื้อประกัน อันจะเห็นได้จากการที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตกันทุกคน เพื่อเป็นการวางแผนรองรับความเสี่ยง และเงินออมอีกส่วนอาจนำมาต่อยอดการลงทุนเพื่อให้เงินเพิ่มพูนจากของเดิม



สเต็ปที่ 4 แยกรายจ่ายออกตามหมวดหมู่ โดยแบ่งให้ยิบย่อย และละเอียดมากขึ้น ซึ่งสเต็ปนี้เป็นจุดสำคัญช่วยฝึกวินัยให้คนญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการออมแบบคะเคโบะ โดยรายจ่ายที่ต้องจัดหมวดหมู่ ได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าของใช้ในบ้าน ค่าเสื้อผ้า ค่าใช้จ่ายสำหรับลูก ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหาร (ของสดปรุงเอง) ค่าอาหารเวลาไปทานนอกบ้าน ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง หรือค่าใช้จ่ายพิเศษอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เราควรกำหนดวงเงินสำหรับค่าใช้จ่ายตามหมวดหมู่ที่แบ่งไว้



สเต็ปที่ 5 เราจะเห็นว่าชาวญี่ปุ่นเป็นคนที่มุ่งมั่นมาก ๆ ในการทำงานและการใช้ชีวิต นั่นก็เพราะพวกเขามีเป้าหมายในชีวิตที่แน่วแน่ ซึ่งถ่ายทอดสู่การออมในสเต็ปนี้ นั่นคือ การเขียนเป้าหมายและวิธีการบริหารเงินของแต่ละเดือนในแต่ละหมวดหมู่ เช่น เดือนที่ 1 คุณมีเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายเสื้อผ้า วิธีการคือ เดือนนี้คุณอาจซื้อได้เพียง เสื้อ 1 ตัว กางเกง 1 ตัว



สเต็ปที่ 6 การทบทวนและพัฒนาตัวเอง คือ คุณสมบัติเด่นของการออมเงินให้สำเร็จในสไตล์ญี่ปุ่น  ดังนั้น  เมื่อสิ้นเดือน คุณต้องสรุปรายจ่ายของแต่ละหมวดหมู่ เพื่อดูว่าเดือนนั้น คุณมีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเกินวงเงินไปหรือไม่ เพื่อนำมาพิจารณาทบทวนตัวเอง วางเป้าหมายและวิธีการใหม่สำหรับเดือนถัดไป
 
หากทบทวนแล้วในสิ้นเดือนนั้น คุณมีเงินเป็นลบ อาจจะมาจากการสร้างหนี้เพิ่ม ถอนเงินออมฉุกเฉินมาใช้ ซึ่งกรณีนี้ คุณอาจจะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษในเดือนถัดไป หากผลรวมเป็นศูนย์ หรือพอดีกับแผนที่วางไว้ แปลว่าคุณสามารถทำได้ตามแผน และอย่างไรก็ตาม คุณควรมีเป้าหมายใหญ่ในแต่ละเดือน คือ การทำให้ผลเป็นบวก โดยการใช้จ่ายให้น้อยกว่าที่คุณกำหนดวงเงินไว้ ซึ่งเงินส่วนนี้เองจะกลายเป็นเงินออมที่คุณควรนำไปสะสมไว้ในเงินออมสำรองฉุกเฉิน หรือสะสมไว้เพื่อการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนเหมาะสม
 
จะเห็นได้ว่า หัวใจของ คะเคโบะ คือ วินัยการจดบันทึกอย่างละเอียด การเปลี่ยนวินัยการใช้จ่ายนี้จะช่วยให้คุณเกิดวินัยในด้านต่าง ๆ ของชีวิตตามมา และจะมีผลพลอยได้คือเงินออมที่มากขึ้น มีความปลอดภัยทางการเงินสูงขึ้น สุดท้ายนี้ แม้ว่าการออมเงินด้วยการจดคะเคโบะ ดูเหมือนคุณต้องใช้ความพยายามในช่วงแรก แต่เชื่อเถอะว่าเมื่อคุณก้าวข้ามผ่านมันไปได้ ความสำเร็จในการออมเงินก็อยู่แค่เอื้อม

CONTRIBUTOR

ชวิศ เหล่าปิยสกุล

เรื่องต่อไป

อ่านเรื่องราวทั้งหมด