การตรวจสุขภาพประจำปีที่เหมาะในแต่ละช่วงวัย

​​ตั้งแต่เราลืมตาดูโลกจนกระทั่งเติบโตขึ้นถึงทุกวันนี้ เราใช้ร่างกายของเราโดยไม่ได้หยุดพักมาตลอด แถมยังต้องผจญกับปัญหาจากปัจจัยภายนอกมากมายที่ส่งผลกระทบแอบแฝงสะสมมาทีละเล็กละน้อยโดยที่เราไม่ทันรู้สึกตัว ไม่ว่าจะจาก ควันพิษท่อไอเสีย ฝุ่นละออง PM 2.5  สารเคมีเติมแต่งและสารก่อโรค สารก่อมะเร็ง ที่มาจากข้าวของเครื่องใช้ และอาหารที่รับประทานทุกวัน  ภัยโรคระบาดต่าง ๆ เช่น โรคโควิด-19 (Covid-19) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ ฯลฯ  รวมถึงความเครียดสะสมจากการใช้ชีวิตในแต่ละวัน
 
เมื่อมีการใช้งานร่างกายทุก ๆ วัน อะไหล่ที่เคยสภาพดีก็จะค่อย ๆสึกหรอ และเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ การตรวจสุขภาพจึงเหมือนกับการพาร่างกายไปเข้ารับการตรวจเช็คสมรรถนะและสำรวจหาจุดที่ต้องมีการดูแลเพิ่มเติม เป็นสิ่งที่เราควรมอบให้แก่ร่างกายในทุก ๆ ปีเพื่อเป็นการใส่ใจและดูแลตัวเราให้ยังคงสุขภาพที่ดีและแข็งแรงอยู่เสมอ
 
โดยทั่วไปแล้วโปรแกรมตรวจสุขภาพเบื้องต้นจะแบ่ง ตามเพศและอายุ โดยแนะนำให้ตรวจทุก 1 ปี   สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ความถี่ และรายละเอียดในการตรวจสุขภาพ แพทย์จะพิจารณาจาก สุขภาพโดยรวม ประวัติครอบครัว และรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ในส่วนของท่านที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาวางแผนการตรวจสุขภาพให้เหมาะสมกับสภาวะโรคในขณะนั้นของท่าน


ช่วงวัยรุ่น (อายุ 13-18 ปี)

ในช่วงอายุช่วงนี้จะเป็นช่วงวัยที่อวัยวะและระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกายยังมีความสมบูรณ์มาก มักไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันหากมีพฤติกรรมไม่ใส่ใจสุขภาพ ในวัยนี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมความเสี่ยงที่ส่งผลระยะยาวเมื่ออายุมากขึ้นได้ โปรแกรมตรวจที่เหมาะสม ได้แก่ ตรวจค่าสายตา ตรวจการได้ยิน ตรวจฟัน ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด เป็นต้น การให้คำแนะนำมักจะเน้นในการแนะนำวิธีการส่งเสริมพัฒนาการ การค้นหาปัญหาและแนะนำโภชนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย ส่วนการตรวจที่ละเอียดกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์เป็นกรณีไปตามความเสี่ยง


ช่วงวัยทำงาน (อายุ 19-39 ปี)

ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่มักจะละเลยสุขภาพเนื่องจากการมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะจากการเรียน การทำงาน หรือการที่ต้องดูแลครอบครัว ทำให้อาจละเลยการดูแลสุขภาพ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด ทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ  เป็นช่วงที่จะเริ่มเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคออฟฟิศซินโดรม โปรแกรมตรวจที่เหมาะสม คือ ตรวจรายการทั่วไป ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจหาระดับไขมันในเลือด ตรวจการทำงานของตับ ตรวจการทำงานของไต โรคระบบทางเดินปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอกซเรย์ปอด เป็นต้น (ผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป หากแต่งงานแล้ว ควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกเพิ่มด้วย)


ช่วงวัยกลางคน (อายุ 40-60 ปีขึ้นไป)

เป็นช่วงวัยที่ร่างกายเริ่มหยุดการสร้างฮอร์โมนเพศ อวัยวะและระบบต่าง ๆ เริ่มถดถอยลง อาการของโรคต่าง ๆ จะเริ่มแสดงออกอย่างชัดเจน  จึงต้องเน้นการตรวจสุขภาพแบบครอบคลุมมากขึ้น นอกจากการตรวจพื้นฐานแบบในช่วงวัยทำงาน ควรเพิ่ม การตรวจสายตา ตรวจหาภาวะกระดูกพรุน ตรวจอัลตราซาวด์อวัยวะช่องท้อง ทดสอบสมรรถภาพหัวใจ ตรวจโรคมะเร็ง โดยในผู้หญิงควรจะเน้นการตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ผู้ชายควรเน้นการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากในช่วงอายุ 50 ปี (ยกเว้นผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากควรตรวจตั้งแต่ช่วงอายุ 40 ปี) เป็นต้น
 
การตรวจสุขภาพนั้นเป็นการตรวจเพียงเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการเจาะจงเพื่อคัดกรองหรือวินิจฉัยเฉพาะโรค ควรได้รับคำแนะนำในการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ และแม้ผลการตรวจสุขภาพของท่านจะปกติ ก็ไม่ได้หมายความว่าร่างกายของท่านจะสมบูรณ์แข็งแรงไปได้ตลอดกาล การใส่ใจดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอด้วยการมีโภชนาการที่ดี พักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
 
เรียบเรียงโดย :
โศศิษฐา พงษ์เสถียรศักดิ์ - ส่วนงานบริหารจัดการโรงพยาบาลและข้อมูลสุขภาพ ศูนย์บริการการแพทย์
×

ฝากข้อความไว้ให้เราติดต่อกลับ